
ต้นมะตาด สรรพคุณและประโยชน์
ต้นมะตาด สรรพคุณและประโยชน์
ลักษณะของมะตาด
ต้นมะตาด หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน สำหรับต้นไม้ชนิดนี้ แต่ต้องบอกเลยว่า เป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิด ที่มีสรรพคุณทางยาซ่อนเอาไว้มากมาย โดยต้นนี้จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ เป็นทรงพุ่มทึบ ลำต้นของมะตาดมักคดงอ ไม่ตั้งตรง และมักมีปุ่มปมปรากฏอยู่บนลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วง ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา มีสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนการแตกกิ่งก้านของลำต้นจะไม่สูงจากพื้นดินมากนัก และการแตกกิ่งย่อยจะเกิดที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและกิ่งตอน ต้นไม้มะตาดเป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดี ในประเทศไทยสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในป่าพรุ ป่าดิบชื้น และริมแม่น้ำลำธาร
ใบมะตาด โดยที่ในส่วนของใบนั้น จะเป็นใบเดี่ยว โดยเอกลักษณ์ของมันนั้นจะออกเรียงสลับถี่ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือเป็นรูปไข่กลับ ใบมีความกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ส่วนโคนใบเรียวสอบแคบและมน แผ่นใบหนา ใบเป็นคลื่นลอนตามเส้นแขนง ใบที่แยกขนานออกจากเส้นใบไปขอบใบ ขอบใบเป็นหยักและฟันเลื่อย มีหนามเล็ก ๆ อยู่ที่ปลายสุดของเส้นแขนงตรงขอบใบ ส่วนท้องใบจะเห็นเส้นแขนงและมีขนขึ้นประปราย เส้นแขนงใบตรงประมาณ 30-40 คู่ และก้านใบมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นร่อง โคนก้านใบแบนและเป็นกาบห่อหุ้มกิ่ง
สรรพคุณของมะตาด
1.ผลมะตาดมีสารฟลาโวนอยด์และสารฟีนอลิก ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ผล)
2.ผลมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)
3.ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
4.ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นยาเย็น (ผลสุก)
5.ช่วยต้านอาการลมชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
6.ช่วยถอนพิษไข้ ระบายพิษไข้ (ใบ, เปลือกต้น)
7.ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ (ผล, ใบ, เปลือกต้น)
8.ช่วยแก้อาการไอ (ผลสุก)
9.ช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)
10.เปลือกต้นนำมาเคี้ยวช่วยทำให้เหงือกและฟันกระชับแน่น (เปลือกต้น)
ประโยชน์ของมะตาด
1.ผลมะตาดใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ นำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อรับประทานมาตั้งแต่โบราณ เช่น การทำเป็นแกงส้มมะตาด แกงคั่วมะตาด หรือนำไปทำอาหารอื่น ๆ
2.เมล็ดมะตาดที่แก่แล้วสามารถนำมารับประทานสดได้ (มีรสชาติมัน)
3.คนไทยโบราณนิยมปลูกต้นมะตาดไว้ในสวนบริเวณบ้าน หรือปลูกในพื้นที่กลางแจ้งและมีเนื้อที่มากพอสมควร เพื่อใช้เป็นร่มเงาให้ความร่มรื่น
ที่มา medthai