
ต้นโพธิ์ศรี สรรพคุณและประโยชน์
ต้นโพธิ์ศรี สรรพคุณและประโยชน์
ลักษณะของโพธิ์ศรี
สำหรับ ต้นโพธิ์ศรี อีกหนึ่งสายพันธุ์ของต้นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ โดยจะมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ รวมไปถึงการเจอทั่ว ๆ ไปในแถบประเทศนิการากัวจนถึงเปรู โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงได้ประมาณ 15 เมตร และในถิ่นกำเนิดอาจมีความสูงได้ถึง 45 เมตร กิ่งก้านมีลักษณะแผ่กว้าง ลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามเตี้ย ๆ บนเต้าแบน ๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป และมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ใบโพธิ์ศรี จะเป็นต้นไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยในส่วนของใบนั้นจะเป็นใบที่มีลักษณะเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลมยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ฟันห่าง ๆ ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-21 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง มีขนตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น โค้งจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 6-22 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย
สำหรับ ดอกโพธิ์ศรี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่มีดอกที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ แถมยังมีสรรพคุณทางยามากมายอีกด้วย โดยออกดอกเป็นช่อสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ส่วนดอกเพศเมียจะมีรูปร่างกลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ก้านช่อหนา ยาวได้ประมาณ 1.2-8 เซนติเมตร ดอกเพศเมียมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีประมาณ 10-20 อัน เรียง 2-3 วง เรียงสู่ด้านปลาย อับเรณูมีขนาดเล็ก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ดอกเพศเมียก้านดอกจะยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ยาวได้ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร รังไข่มีความยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ยอดเกสรแยกเป็นแฉก แผ่ออก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4-2.6 เซนติเมตร
สรรพคุณของโพธิ์ศรี
1.เปลือก ยาง และเมล็ด มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน (เปลือก, ยาง, เมล็ด)
2.มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง (เปลือก, ยาง, เมล็ด)
3.ยางใช้เป็นยารักษาเท้าช้าง (ยาง)
ประโยชน์ของโพธิ์ศรี
1.ยางใช้เป็นยาเบื่อปลา หรือใช้อาบลูกดอก
2.ผลและเมล็ดมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง
3.ในสมัยก่อนจะมีการนำผลที่ยังสุกมาต้ม เจาะรู แล้วนำมาตากให้แห้ง บรรจุทรายไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา จึงเป็นที่มาของชื่อ sand box tree
ที่มา medthai